ประวัติวิทยาลัยแพทย์ฯ 2023-01-10T09:47:10+07:00

ประวัติวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน จัดตั้งขึ้นโดยพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 โดยแรกก่อตั้งพระราชทานนามว่า “สำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข” ซึ่งเป็นสำนักวิชาการแรกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้สังกัดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยทรงมุ่งหวังให้สำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนและผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการสาธารณสุขในสาขาที่ขาดแคลน รวมทั้งจัดการศึกษาระดับหลังปริญญาเพื่อผลิตนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพของประเทศ



ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดโครงสร้างขององค์กรใหม่ตามโครงสร้างของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยสำนักวิชาแพทยศาสตร์และการสาธารณสุขได้รับการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข” และย้ายสังกัดจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มูลนิธิจุฬาภรณ์ มาอยู่ในสังกัดของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นส่วนงานภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะฯ ได้มีการพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดหลักสูตรที่ทันสมัยทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก มีผลงานด้านวิจัยวิชาการและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ มีโครงการอาสาจุฬาภรณ์ซึ่งทรงพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้พระนาม เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งมีผลงานด้านอื่นๆ อย่างเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่เป็น “วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน – Princess Srisavangavadhana College of Medicine” โดยสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้มีมติให้การรับรองชื่อใหม่ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นการเฉลิม  พระเกียรติองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 64 พรรษา ในปี พ.ศ. 2564

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนเป็นโรงเรียนแพทย์ลำดับที่ 23 ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานสากลของ World Federation for Medical Education (WFME) โดยสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ (สมพ.) และแพทยสภา ปัจจุบันวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนเปิดการสอนใน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 7 ปี 2 ปริญญา (iBSc/MD) โดยความร่วมมือกับ University College London (UCL) สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Top 10 ของโลก 2) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาวิชาคอมพิวเตอร์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่เป็น Joint degree ที่มีการผสมผสานข้ามศาสตร์และข้ามมหาวิทยาลัย และ 3) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์การแพทย์ เพื่อผลิตนักฟิสิกส์การแพทย์ซึ่งมีความขาดแคลนอย่างยิ่งในประเทศไทย ทั้งนี้ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒนได้ดำเนินการเตรียมเปิดหลักสูตรใหม่อีก 5 หลักสูตร คือ  1) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา 2) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาชาวิชาฟิสิกส์การแพทย์และวิศวกรรมการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) 3) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมทางการแพทย์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ University of Newcastle เครือรัฐออสเตรเลีย (Dual Degree BSc/BEng) (หลักสูตรนานาชาติ) 4) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล และ 5) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อหลักสูตรผ่านการรับรองโดยสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นอกจากนี้ ในช่วงแรกของการก่อตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข (ชื่อในขณะนั้น) ยังได้ร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์กับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 5 รุ่น (2560-2565) ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรรังสีเทคนิครุ่นแรก ซึ่งต่อมาโอนย้ายไปสังกัดคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพในปีการศึกษา 2561