หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด – สาขาอายุรศาสตร์ 2024-03-22T10:20:45+07:00

หลักสูตรการฝึกอบรม

เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาอายุรศาสตร์

โครงการผลิตอายุรแพทย์ร่วมระหว่างสาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และงานอายุรกรรม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปีการศึกษา 2568

พันธกิจหลักของหลักสูตร

การฝึกอบรมอายุรแพทย์ให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาอายุรศาสตร์ ตามมาตรฐานคุณวุฒิความรู้ความชำนาญในสาขาอายุรศาสตร์ของแพทยสภา โดยฝึกให้อายุรแพทย์มีความรู้ความสามารถในการให้การวินิจฉัยโรค การให้การดูแลรักษาแบบองค์รวม โดยครอบคลุมถึงการให้การรักษาตัวโรค การให้การดูแลรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการให้การดูแลประคับประคองและการดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต การให้คำแนะนำและคำปรึกษากับผู้ป่วยและญาติ นอกจากความรู้และทักษะด้านอายุรศาสตร์แล้ว อายุรแพทย์ยังต้องมีความสามารถด้านอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มีการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเป็นมืออาชีพ การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม การมีภาวะผู้นำ การปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพของประเทศ การบริหารจัดการ กระบวนการคุณภาพและความปลอดภัย การใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม ตลอดจนความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กร มีความเอื้ออาทรและใส่ใจในความปลอดภัย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

คู่มือการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้าน
แบบประเมินการทำ admission round และ Journal club


หลักสูตรและการศึกษา

ชื่อสาขา

(ภาษาไทย)       หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ)   Residency Training in Internal Medicine

ชื่อเต็ม

(ภาษาไทย)  วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ)  Diploma of the Thai Board of Internal Medicine

ชื่อย่อ

(ภาษาไทย)  วว. อายุรศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ)  Dip., Thai Board of Internal Medicine

 คำแสดงวุฒิการฝึกอบรมท้ายชื่อ

(ภาษาไทย)  วว. อายุรศาสตร์

(ภาษาอังกฤษ)  Diplomate, Thai Board of Internal Medicine หรือ Dip., Thai Board of Intern Med

ราชวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการฝึกอบรมและเกี่ยวข้อง

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ผลสัมฤทธิ์การฝึกอบรม

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมต้องสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเองตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน ดังนี้

1.การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient care)

  • มีทักษะในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการรวบรวมข้อมูล สำหรับนำมาคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสม รวมทั้งการทำหัตถการที่จำเป็น
  • สามารถวินิจฉัยบำบัดรักษาภาวะผิดปกติทางอายุรศาสตร์ที่พบโดยทั่วไปในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • สามารถบันทึกรายงานผู้ป่วยได้อย่างสมบูรณ์และสม่ำเสมอ
  • มีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคทางอายุรศาสตร์และสร้างเสริมสุขภาพ

2.ความรู้ ความเชี่ยวชาญ  และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical knowledge and skills)

  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และความรู้ทางคลินิกด้านอายุรศาสตร์แบบองค์รวมที่สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของชุมชนและสังคม
  • มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านทักษะ และหัตถการด้านอายุรศาสตร์

3.การเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Practice-based learning)

  • สามารถดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อปัญหาของประเทศ
  • เรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ได้ด้วยตนเองจากการปฏิบัติ

4.ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)

  • สามารถนำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะ ให้แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์
  • สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของความเมตตาเคารพในการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่แพทย์และบุคลากรอื่น

5.ความเป็นมืออาชีพ  (Professionalism)

  • มีเจตคติ คุณธรรม จริยธรรมแห่งวิชาชีพ มีความรับผิดชอบและจิตสำนึกของความเป็นลูกพระราชบิดาโดยถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
  • มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (Continuous professional development)
  • มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
  • มีทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมทางการแพทย์

6.การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice) มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (Cost Consciousness Medicine) สามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ

  • มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพและระบบยาของประเทศ
  • มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
  • มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย
  • มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้ป่วย
  • มีความรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวมสามารถเรียนรู้การบริหาร ระบบคุณภาพและธรรมาภิบาล
  • มีภาวะผู้นำ สามารถทำงานเป็นทีม และมีทักษะในการบริหารจัดการมีความสามารถปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ
  • มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาและทรัพยากรอย่างสมเหตุผล มีความรู้ความเข้าใจในการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมและคุ้มทุน

ติดต่อ

โทร 02 576 6000 ต่อ 6792

Email : [email protected]