15 กรกฎาคม 2563 : ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงเปิดอาคาร “โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ”



ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงเปิดอาคาร “โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ” ณ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทรงมีพระดำริให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ดำเนินโครงการจัดสร้างอาคารเพื่อเป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการต่อยอดนำงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตที่สามารถนำมาใช้ได้ในมนุษย์ พัฒนาเภสัชภัณฑ์สําหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงความรู้และประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการผลิตเภสัชภัณฑ์กับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสําหรับรักษาโรคมะเร็งใช้ได้ด้วยตนเอง ด้วยทรงตระหนักถึงความยากลำบากของประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสำหรับรักษาโรคมะเร็ง

โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดําริ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีพันธกิจในการผลิตเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถทุกระดับชั้นเข้าถึงการรักษาด้วยยาประสิทธิภาพสูงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยโรงงานได้คัดเลือกยารักษามะเร็งกลุ่มมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกที่จะดำเนินการผลิตซึ่งในปัจจุบันมีการนำเข้ายากลุ่มนี้มากถึงปีละกว่าหมื่นล้านบาทโดยอ้างอิงถึงประสิทธิภาพของยาที่สามารถควบคุมโรคได้ดี เกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วยต่ำ โดยความสามารถผลิตยาจากโครงการนี้จะช่วยลดภาระด้านค่าใช้จ่ายการนำเข้าจากต่างประเทศ และเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงให้แก่ประเทศไทย นำมาซึ่งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจด้วย โดยอาคารโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดําริเป็นอาคาร 4 ชั้นซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยในการทำงาน ประกอบด้วย ชั้น 1 เป็นส่วนโถงต้อนรับและส่วนงานผลิตยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ชั้น 2 เป็นส่วนงานควบคุมคุณภาพและมลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และห้องปฏิบัติการวิจัยทดลอง ชั้น 3 พื้นที่รองรับส่วนขยายกำลังผลิตในอนาคต ชั้น 4 เป็นส่วนของสำนักงาน

โดยภายในอาคารมีระบบการทำงานแบบปิด และมีการควบคุมการเข้าออก การควบคุมคุณภาพ และการประกันคุณภาพ เพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตของ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (GMP PIC/S) มาตรฐานการผลิตยาของประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในการใช้ผลิตยา เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ภายใต้สภาวะแวดล้อมของการทำงานที่มีความสะอาดปลอดภัยและปราศจากเชื้อแบคทีเรียที่จัดเตรียมไว้สำหรับการผลิตยารักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้านับเป็นโรงงานผลิตเภสัชกรรมแบบครบวงจรของไทยและเป็นแห่งแรกในอาเซียน นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ในพระดำริอื่นๆ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน GMP อีกด้วย ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากแนวพระวิสัยทัศน์ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมีพระปณิธานให้เกิดงานด้านวิจัยขึ้นในประเทศไทย จึงมีการสร้างห้องทดลองและสร้างโรงงานต้นแบบไว้สำหรับสกัดน้ำหอมขึ้นไว้ในโครงการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรพันธุ์ไม้หอม และงานสกัดสารทุติยภูมิ โดยนักวิจัยนำพันธุ์ไม้หอม เช่น ดอกกุหลาบมอญ ดอกพุด และดอกมหาหงส์ มาวิจัยทดลองจนนำมาสกัดเป็นน้ำหอมซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัว โดยได้ใช้พื้นที่ในโครงการทำแปลงปลูกไม้ดอกต่างๆ ทำให้เกิดกระบวนการที่ครบวงจรดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการปลูกจนกระทั่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ และจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารโรงงานส่วนหนึ่งเป็นสถานที่วิจัยสกัดพืชสมุนไพรไทย นำสารหอมที่สกัดได้จากพันธุ์ไม้หอมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเป็นสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ในพระดำริ อาทิ น้ำหอม ครีมทาผิว และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งโครงการศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรพันธุ์ไม้หอมและงานสกัดสารทุติยภูมินี้ นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างผลงานให้นักวิจัยไทยแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยให้ยั่งยืนต่อไปอีกด้วย

2022-12-15T10:02:41+07:00